นิสิตภาควิชารัฐศาสตร์​ คณะ​สังคม​ศาสตร์​ มจร ศึกษาดูงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความโดดเด่น จ.อ่างทอง

วันจันทร์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒ คณาจารย์ และนิสิตชั้นปีที่ ๓ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ศึกษาดูงานเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ เรื่อง “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความโดดเด่น” ณ เทศบาลตำบลโพสะ ตำบลโพสะ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากท่านบุญเรือน ก้อนทองดี นายกเทศมนตรี มอบหมายให้ท่านวิจิตร เกษมสุข รองนายกเทศมนตรี และ พ.จ.อ.ไชยรัตน์ วรรณอุบล ปลัดเทศบาลฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี หลักจากนั้นได้บรรยายถึงความเป็นมาเกี่ยวกับปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ และลงภาคสนามเพื่อดูผลลัพธ์การปฏิบัติงาน เรื่องการสร้างนวัตกรรมในชุมชน “การบริหารขยะต้นทาง” ที่สามารถลดปริมาณขยะจาก ๗๐ ตัน เหลือ ๓๐ ตัน ภายในระยะเวลาไม่นาน จาก ๓ กิจกรรมหลักๆ เช่น ธนาคารขยะรีไซเคิล สิ่งประดิษฐ์​จากยางรถยนต์ ถังพ่อพอเพียง ทั้งสามกิจกรรมนี้ออกแบบมาเพื่อจัดการกับขยะทุกชนิดภายใต้หลักการ ๓ R จนทำให้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติต่อเนื่องกันหลายปี ล่าสุดปี ๒๕๖๑ ได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความโดดเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจ

กิจกรรมดังกล่าวที่ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ทำให้นิสิตมีมุมมองหลากหลายมิติมากยิ่งขึ้น ในรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์​ ทั้งบทบาทการปกครอง และบทบาทนักบริหารที่ดีควรต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง สร้างการมองแบบองค์รวมเชิงระบบ มองทุกสิ่งใกล้ตัวให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สามารถปรับใช้กับชีวิตจริงได้ในอนาคต เชิงวิชาการจะเห็นได้ว่าเมื่อถอดบทเรียนแล้ว จะเห็นการทำงานที่เป็นระบบตามวงจร PDCA มีการวางแผนมาจากหลักการ ผลการวิจัย หรือสถิติต่างๆ ในชุมชนเองที่เชื่อถือได้ มาสร้างวิธีการนำไปสู่การปฏิบัติ มีการประเมินผล และมีการปรับปรุงการทำงานนำไปสู่การต่อยอดผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญองค์กรจะประสบความสำเร็จได้ ผู้นำ และผู้ตาม ต้องมีเข็มทิศไปที่เป้าหมายเดียวกัน ภายใต้หลักการ ๓ ต. (๑.ตื่นตัว ๒.ตื่นรู้ ๓.ตื่นคิด)

 

 

ภาพ/ข่าว​ : ดร.เอนก ใยอินทร์
รายงาน​ : เรวดี​ จรรยา