.
ประวัติคณะสังคมศาสตร์
ชื่อส่วนงาน ที่ตั้ง และประวัติความเป็นมาโดยย่อ
ชื่อส่วนงาน : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ที่ตั้ง : ๗๙ หมู่ที่ ๑ ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑๓๑๗๐
ประวัติความเป็นมาโดยย่อ
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมได้ออกคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง การศึกษาของมหาวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๕๑๒ และเรื่องการศึกษาของคณะสงฆ์ จากคำสั่งทั้งสองฉบับนี้ส่งผลให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีสถานะเป็นสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยโดยสมบูรณ์ และทำการเปิดสอนคณะเอเชียอาคเนย์ ต่อมาเปลี่ยนเป็นคณะมานุษยสงเคราะห์ศาสตร์ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๒๖ คณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ได้แยกคณะมานุษยสงเคราะห์ศาสตร์ออกเป็น ๒ คณะ คือ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๒๖ เพื่อรองรับการปรับปรุงหลักสูตรใหม่พุทธศักราช ๒๕๒๖ จากระบบเดิม ๒๐๐ หน่วยกิต เป็นระบบสากล คือ ๑๕๐ หน่วยกิต กล่าวคือ นิสิตตั้งแต่รุ่นแรกถึงรุ่นที่ ๓๒ ต้องศึกษาถึง ๒๐๐ หน่วยกิต จึงจะสมบูรณ์และมีสิทธิ์ได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.)
ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ คณะสังคมศาสตร์ได้แยกมาจากคณะมานุษยสงเคราะห์ศาสตร์พร้อมกับคณะมนุษยศาสตร์ เพื่อดำเนินการจัดการศึกษาในสายสังคมศาสตร์เป็นการเฉพาะเพื่อความคล่องตัวในด้านการบริหารจัดการ คณะสังคมศาสตร์เป็นคณะที่มหาวิทยาลัยมุ่งหมายให้จัดการเรียนการสอนในสายสังคมศาสตร์เป็นการเฉพาะ เพื่อให้นิสิตมีความรู้เกี่ยวกับสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ตามสถานการณ์ของโลกและสังคมสมัยใหม่
อาจารย์ผู้เป็นกำลังสำคัญในการก่อกำเนิดคณะสังคมศาสตร์ในขณะนั้นคือ พระมหาสำรวม ปิยธมฺโม รวมทั้งมีผู้บริหารในตำแหน่งคณบดี เพื่อสนองนโยบายของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีคุณูปการต่อคณะอย่างต่อเนื่อง ตามลำดับดังนี้
๑. พระมหาวิสุทธิ์ ปญญสฺสโร (พระครูประกาศิตพุทธศาสตร์/มรณภาพแล้ว) รักษาการคณบดี ๒๐ พ.ค. ๒๕๒๖ – ๓๐ ก.ย. ๒๕๒๖
๒. พระมหาปรีชา ปริญฺญาธโร รักษาการคณบดี ๓๐ ก.ย. ๒๕๒๖ – ๑๙ มี.ค. ๒๕๒๗
๓. พระมหายิน วรกิจฺโจ ดำรงตำแหน่งคณบดี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ – ๒๕๓๐
๔. พระมหาสำรวม ปิยธมฺโม (พระราชวรนายก/มรณภาพแล้ว) ดำรงตำแหน่งคณบดี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๐ – ๒๕๓๕
๕. พระครูปลัดประสิทธิ์ ธุรสิทฺโธ, ดร. ดำรงตำแหน่งคณบดี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ – ๒๕๔๕
๖. พระครูวิจิตรธรรมโชติ (สามารถ โชติธมฺโม) ดำรงตำแหน่งคณบดี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๔๙
๗. พระครูปุริมานุรักษ์ (ประสิทธิ์ ธุรสิทฺโธ), รศ.ดร. ดำรงตำแหน่งคณบดี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๙ – ๒๕๕๓
๘. พระครูปริยัติกิตติธำรง (ทองขาว กิตฺติธโร), รศ.ดร. ดำรงตำแหน่งคณบดี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๖๕
๙. พระอุดมสิทธินายก (กำพล คุณงฺกโร), รศ.ดร. ดำรงตำแหน่งคณบดี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๖๕ – ปัจจุบัน
วิวัฒนาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ดำเนินไปโดยลำดับ จากเดิมมีเพียงคณะเดียวได้ขยายออกเป็น คณะพุทธศาสตร์, คณะครุศาสตร์, คณะมนุษยศาสตร์, คณะสังคมศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย การขยายของมหาวิทยาลัยทำให้มีความจำเป็นต้องย้ายคณะสังคมศาสตร์ จากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มาอยู่ที่อาคารเรียนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ศูนย์วัดศรีสุดาราม เลขที่ ๒๓ ถนนบางขุนนนท์-ตลิ่งชัน แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๒ และทางคณะได้ย้ายสำนักงานคณบดีคณะสังคมศาสตร์มาปฏิบัติหน้าที่ ณ อาคารเรียนรวม โซน B มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน
.
สุภาษิต ปณิธาน ปรัชญา วิสัยทัศน์ และพันธกิจ
สุภาษิต (Proverb)
สุภาษิตว่า ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต
แปลว่า ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก
ปณิธาน (Determination)
ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง สำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์
ปรัชญา (Philosophy)
จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับพุทธศาสนา พัฒนาจิตใจและสังคม
วิสัยทัศน์ (Vision)
ผลิตคนดีและเก่ง อย่างมีสมรรถภาพ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผลิตบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ใฝ่รู้ ใฝ่คิด เป็นผู้นำจิตใจและปัญญา มีโลกทัศน์กว้างไกล มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาและพัฒนาสังคม
จัดการศึกษาและวิจัยดีอย่างมีคุณภาพ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดการศึกษาและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ โดยบูรณาการวิชาการด้านสังคมศาสตร์กับพุทธศาสนาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ผ่านกระบวนการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ และเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนา มนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและสันติสุข
บริการวิชาการดีอย่างมีสุขภาพ มุ่งมั่นในการให้บริการวิชาการด้านสังคมศาสตร์และพระพุทธศาสนาแก่คณะสงฆ์และสังคม รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ และความร่วมมืออันดีระหว่างพุทธศาสนิกชนในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะและวัฒนธรรมอันเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา
บริหารดีอย่างมีประสิทธิภาพ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มุ่งพัฒนาการบริหารจัดการตามหลักนิติธรรม จริยธรรม ความสำนึกรับผิดชอบ การมีส่วนร่วม ความโปร่งใสตรวจสอบได้ และความคุ้มค่า รวมทั้งสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง
พันธกิจ (Mission)
ผลิตบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผลิตบัณฑิตและพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ๙ ประการ คือ มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ใฝ่รู้ใฝ่คิด เป็นผู้นำด้านจิตใจและปัญญา มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม มีโลกทัศน์กว้างไกล มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเอง ให้เพียงพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม
วิจัยและพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย การวิจัยและค้นคว้า เพื่อสร้างองค์ความรู้ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนการสอน เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ในพระไตรปิฎกโดยวิธีสหวิทยาการแล้วนำองค์ความรู้ที่ค้นพบมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา ศีลธรรม และจริยธรรมของสังคม รวมทั้งพัฒนาคุณภาพงานวิชาการด้านพระพุทธศาสนา
ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม ตามปณิธานการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ด้วยการปรับปรุงกิจกรรมต่างๆ ให้ประสานสอดคล้อง เอื้อต่อการส่งเสริม สนับสนุนกิจการคณะสงฆ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา สร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรมแก่ประชาชน จัดประชุม สัมมนา และฝึกอบรม เพื่อพัฒนาพระสงฆ์และบุคลากรทางศาสนาให้มีศักยภาพในการธำรงรักษา เผยแผ่หลักคำสอน และเป็นแกนหลักในการพัฒนาจิตใจในวงกว้าง
ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เสริมสร้าง และพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมให้เอื้อต่อการศึกษา เพื่อสร้างจิตสำนึกและความภาคภูมิใจในความเป็นไทย สนับสนุนให้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นรากฐานของการพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ
.
เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย และอัตลักษณ์บัณฑิต
เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย คือ บริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนา
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย คือ ประยุกต์พระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม
อัตลักษณ์บัณฑิต คือ มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา
.