คณะสังคมศาสตร์กับการดูแลผู้ป่วยจิตเวช

คณะสังคมศาสตร์กับการดูแลผู้ป่วยจิตเวช

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาได้ทำข้อตกลงร่วมกัน (MOU) กับกระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต และสมาคมนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหลักสูตรสังคมสงเคราะห์จิตเวชเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่เป็นปัญหาในการสร้างสังคมแห่งความเข้มแข็ง เพราะที่ผ่านมาในประเทศไทยยังไม่มีหลักสูตรเฉพาะทางด้านนี้โดยตรง กระทรวงสาธารณสุขตระหนักในหลักการและเหตุผลเช่นนี้ จึงแสวงหาเครือข่ายที่มีศักยภาพด้านนี้ ดังนั้น จึงได้ประชุมร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเพื่อสร้างหลักสูตรข้างต้นทั้งระยะสั้นและระยะยาว และเพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาและแก้ไขปัญหาให้ได้มากที่สุด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ผ่านระบบซูม (Zoom Meeting) โดยตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขและกรมสุขภาพจิต คือ นาวาเอก ดร.บุญเรือง เกิดอรุณเดช และนางสาวชิดชนก โอภาสวัฒนา ตัวแทนจากสมาคมนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช คือ นางอัญชลี ศิลาเกษ และวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ณ ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ ทางกระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต และสมาคมนักสังคมสงเคราะห์จิตเวชได้เสนอแนะเกี่ยวกับรายวิชาเปิดสอนและการฝึกภาคปฏิบัติทั้งระยะสั้นและระยะยาว หลังจากนั้นได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะสังคมศาสตร์ในวันที่ 26 ตุลาคม 2566 มติที่ประชุมคณะสังคมศาสตร์ให้นำเสนอต่อสภาวิชาการเป็นลำดับไป โดยหลักสูตรได้รับการอนุมัติจากมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566

จากข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มอบหมายให้คณะสังคมศาสตร์ มจร ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต สมาคมนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช และอินาโมโตะ คลินิก โตเกียว ได้ทำการเปิดอบรมหลักสูตรพื้นฐานความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 เวลา 08.30 น. พระอุดมสิทธินายก, รศ.ดร. คณบดีคณะสังคมศาสตร์ เป็นประธานเปิดพิธีเปิดหลักสูตรพื้นฐานความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ระยะสั้น 1 เดือน ตามความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กระทรวงสาธารณสุข Enomoto Clinic Tokyo Japan โดยมี ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่คณะสังคมศาสตร์ ผู้บริหารและบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข และ Enomoto Clinic เข้าร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน ณ ห้อง B111 ชั้น 1 อาคารเรียนรวม โซน B มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สถานการณ์ผู้ป่วยจิตเวชของไทยปัจจุบันมีจำนวนโดยประมาณ 3,000,000 คน แต่นักสังคมสงเคราะห์จิตเวชที่รับผิดชอบมีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้การดูแลผู้ป่วยที่เปราะบางเหล่านี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้น คณะสังคมศาสตร์จึงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต สมาคมนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช และคลินิกอินาโมโตะ กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น ได้เปิดหลักสูตรระยะสั้นขึ้นเพื่อทำการอบรมแบบเข้มข้น หลักสูตรนี้จะใช้เวลาในการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเป็นระยะเวลา 1 เดือน เริ่มตั้งแต่ วันที่ 15 มกราคม 2567 – วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 โดยสัปดาห์แรกอบรมที่ มจร สัปดาห์ที่สองอบรมที่คลีนิกอินาโมโตะ กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น และสองสัปดาห์สุดท้ายกลับมาอบรมที่กรมสุขภาพจิต ประเทศไทย จำนวนบุคลากรทั้งของ มจร กรมสุขภาพจิต และสมาคมนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช ที่เข้ารับการอบรมแบบเข้มข้นจำนวน 15 รูป/คน

และในวันสุดท้ายของการอบรม คือ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น. ทุกท่านที่เข้าอบรมหลักสูตรได้เข้าพิธีรับใบประกาศนียบัตร โดยประธานในพิธีมอบคือ พระอุดมสิทธินายก, รศ.ดร. คณบดีคณะสังคมศาสตร์ ณ ห้อง B111 ชั้น 1 อาคารเรียนรวม โซน B มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ในปัจจุบันบุคลากรที่เข้ารับการอบรมจำนวน 10 คน ได้รับการบรรจุเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่กระทรวงสาธารณสุขในตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช ผู้ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์จิตเวช และพยาบาลผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลผู้ป่วยจิตเวช